Saran


การวางแผนการศึกษาต่อ
วางแผนการเรียนก่อนจบ ม.ปลาย

 

เป้าหมายต้องชัดเจน

ขึ้น ม. 6 แล้ว “คณะที่อยากเข้า” ต้องชัดเจน! คณะอะไร สาขาอะไร ใช้คะแนนสอบอะไรบ้าง เปิดรับสมัครรอบไหนบ้าง ข้อมูลต่าง ๆ พวกนี้ต้องครบ จะได้เตรียมตัวอ่านหนังสือ เพราะแต่ละคณะก็เตรียมตัวไม่เหมือนกัน วิชาสอบต่างกัน หากเป้าหมายเราชัดเจนจะได้เน้นไปเลยให้ตรงจุด

 

ค่ายค้นหาตัวเอง

ค่ายก็เป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ตัวเองมากขึ้นว่าคณะที่เลือกสาขาที่หมายตาไว้ จริง ๆ แล้วใช่สำหรับตัวเองหรือเปล่า ถ้าคนไหนใช่ก็ดีเลยที่จะได้รู้และสัมผัสบรรยากาศการเรียน สังคม ความคิด ทัศนคติ รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวของที่ที่จะเรียนก่อนใคร ส่วนคนที่พบคำตอบว่า “ไม่ใช่” ก็จะได้กลับมาถามใจตัวเองและหาคำตอบให้เจอว่าจริง ๆ แล้วเราชอบอะไรกันแน่ เป็นกิจกรรมที่เราได้ค้นหาตัวเองและได้ประการณ์เกี่ยวกับคณะนั้น ๆ ด้วย

 

รักษาเกรด

“เกรด” เป็นส่วนสำคัญในการยื่นสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความรู้ความเข้าใจและความเอาใจใส่ของน้อง ๆ ใครรักษาเกรดให้อยู่ในระดับดี ๆ มาตลอด ก็ขอให้รักษาต่อไป ใครรู้สึกว่าเกรดยังไม่ดีพอก็รีบพัฒนา ดังนั้น 2 เทอมสุดท้ายของ ม. 6 ก็ไม่สายเกินไปสำหรับการตั้งใจเก็บเกรด เพราะบางคณะหรือมหาวิทยาลัยมีกำหนดเกรดขั้นต่ำไว้ด้วย น้อง ๆ จะได้รู้ตัวว่าควรฟิตเพิ่มแค่ไหนเพื่อทำเกรดให้ดีขึ้นและได้ตามเกณฑ์ของคณะหรือมหาวิทยาลัย หากเกรดไม่ถึงอาจโดนตัดสิทธิ์ ไปง่าย ๆ แม้ 0.1 ก็เถอะ

 

เตรียมวางมือจากกิจกรรม

เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนคงเป็นเด็กกิจกรรมที่ทำกิจกรรมกันมาเยอะแยะเลยทีเดียว เรียกได้ว่างานราษฎร์งานหลวงมีที่ไหนไม่เคยขาด ไม่เคยปฏิเสธ แต่เมื่อเราขึ้น ม. 6 แล้วอยากให้น้อง ๆ วางมือจากกิจกรรมไปเตรียมตัวสอบดีกว่า คายตะขาบให้น้อง ๆ ม. 4 ม. 5 เค้าไปทำกิจกรรมเถอะ ถ้าเรามัวทำกิจกรรมอย่างที่แล้วมาคงไม่ดีแน่ ๆ เชียวล่ะ โดยเฉพาะเรื่องเวลาซึ่งดูแล้วว่ายุ่งเหยิงไม่เป็นระบบแน่ ๆ ไหนจะทำกิจกรรมหามรุ่งหามค่ำ ไหนต้องอ่านหนังสือ-ทำการบ้านให้ทันเวลาอีก เปอร์เซ็นต์ที่ปัญหาจะตามมาก็มากเลยล่ะ เอาเป็นว่าน้อง ๆ ต้องคิดให้ได้ว่าอะไรสำคัญกับอนาคตเรากว่ากัน พี่เชื่อว่าคำตอบนั้นน้อง ๆ คงรู้กันดีอยู่แล้ว

 

เตรียมรวบรวมผลงานทำ Portfolio

Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน เป็นสิ่งสำคัญ ใช้ยื่น TCAS รอบที่ 1 และประกอบการพิจารณาในการสัมภาษณ์รอบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็จะดูว่าน้อง ๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือเปล่า ทั้งความรู้และความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ เริ่มรวบรวมตั้งแต่ตอนนี้เลย จัดเรียงเอกสารให้เป็นระบบ ดูดี มัดใจกรรมการแบบไม่ต้องกังวล ไม่ว่าประวัติส่วนตัว ใบแสดงผลการเรียน เกียรติบัตร ภาพถ่ายกิจกรรม หนังสือทางราชการ ฯลฯ และยังมีกิจกรรมมากมายที่เปิดให้น้อง ๆ ได้เข้าไปหาประสบการณ์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นเรานำมาใส่ใน Portfolio ได้

 

ค่าใช้จ่าย TCAS

นอกจากความรู้แล้ว เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ต้องเตรียมให้พร้อมไว้เลย เพราะน้อง ๆ ต้องใช้จ่ายค่าสอบ GAT/PAT, 9 วิชาสามัญ ค่าสมัครรับตรงรอบต่าง ๆ อาจจะรวมถึงค่าเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งดู ๆ แล้วเยอะแยะเลยล่ะ ถ้าเตรียมไว้ไม่ดี ไม่พร้อม ปัญหาก็ตามมาให้ปวดหัวเข้าอีก ต้องเริ่มเก็บออม ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย จะได้มีเงินเหลือเก็บและเอาไปใช้จ่ายค่าสมัครสอบและที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องขอจากที่บ้านเยอะเกินไป

 

เก็บเนื้อหาพร้อมตะลุยโจทย์

ใครไม่ได้เรียนพิเศษ เพราะตั้งใจเรียนเนื้อหาในห้องมาตลอด ก็อย่าเพิ่งลืมเนื้อหาเหล่านั้นละ ควรกลับไปทบทวนเนื้อหาตั้งแต่ ม. 4 – ม. 5 และศึกษาของ ม. 6 ให้จบให้เร็วที่สุด เวลาที่เหลือเราจะได้ไปเตรียมตัวกับวิชาสอบ เช่น หากคณะที่จะเข้าเน้นคณิตศาสตร์ เราก็ทบทวนเพิ่มและฝึกทำโจทย์ ส่วนคนที่เลือกลงเรียนพิเศษ ก็เลือกคอร์สเก็บเนื้อหา ม. 4 – ม. 6 และคอร์สตะลุยโจทย์วิชาที่ต้องสอบ เตรียมตัวเองให้พร้อมตลอดเวลาเพื่อจะลุยได้ทุกสนามสอบ

 

ต้องรู้ TCAS ทั้ง 5 รอบ

เชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจ การรับในระบบ TCAS ทั้ง 5 รอบ รีบศึกษาไว้เลย จะได้ไม่พลาด

รอบที่ 1 Portfolio เป็นการรับที่ใช้แฟ้มสะสมผลงานในการยื่น ไม่มีการสอบ สมัครผ่านมหาวิทยาลัย

รอบที่ 2 โควตาแบบมีสอบ คะแนนที่ใช้ในรอบนี้อาจจะเป็น GAT/PAT หรือ 9 วิชาสามัญ หรือมหาวิทยาลัยเปิดสอบเอง สมัครผ่านมหาวิทยาลัย

รอบที่ 3 รับตรงร่วมกัน คะแนนที่ใช้ในรอบนี้คือ GAT/PAT และ 9 วิชาสามัญ แล้วแต่มหาวิทยาลัยกำหนด รอบนี้สมัครผ่านระบบกลางของ ทปอ.

รอบที่ 4 แอดมิชชั่น ใช้คะแนน เกรด 6 เทอม, O-NET และ GAT/PAT เกณฑ์การใช้แต่ละสาขาจะคล้าย ๆ ปีก่อน สมัครผ่านระบบกลางของ ทปอ.

รอบที่ 5 รับตรงหลังแอด รับเก็บตกหากที่นั่งยังว่างอยู่

นี่แค่แบบคร่าว ๆ นะ น้อง ๆ ควรจะติดตามข่าวสารอยู่เสมอ เพื่อประโยชน์ของตัวเอง

 

สุดท้ายตั้งเป้าคะแนน

เช็คสถิติคะแนน คณะที่อยากเข้า มาตั้งเป็นมาตรฐานให้ตัวเองไว้ จะได้รู้ว่าเราต้องทำคะแนนสอบแต่วิชาเท่าไหร่ ถึงจะมีโอกาสได้เข้าเรียนคณะที่ใฝ่ฝัน ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ อย่างเช่น ตั้งเป้าคะแนน 20,000 ต้องทำคะแนน O-NET, GAT/PAT วิชาละเท่าไหร่ถึงจะรวมกันได้เท่าเป้าหมายที่วางไว้


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.006044 sec.