krusunsanee


สามัคคึเภทคำฉันท์
                           สามัคคี เภทคำฉันท์

    สามัคคี เภทคำฉันท์  เป็นนิยายคำฉันท์ขนาดสั้นไม่กี่สิบหน้ากระดาษเท่านั้น แต่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี มีความงดงามทางวรรณศิลป์ ทั้งยังได้รับการคัดเลือกเป็นหนังสือประกอบการเรียนการสอนในวิชาภาษาไทยด้วย   หนังสือ สามัคคีเภทคำฉันท์ (ฉบับกระทรวงศึกษาธิการจัดพิมพ์ เขียนเว้นวรรค เป็น 'สามัคคีเภท คำฉันท์') นี้ นายชิต บุรทัต ได้แต่งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2457 ในสมัยรัชกาลที่ 6 นับเป็นผลงานที่มีชื่อเสียงอีกชิ้นหนึ่งของกวีผู้นี้
      สามัคคีเภทคำฉันท์ดำเนินเรื่องโดยอิงประวัติศาสตร์ครั้งพุทธกาล ว่าด้วยการใช้เล่ห์อุบายทำลายความสามัคคีของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี กรุงเวสาลี แห่งแคว้นวัชชี เนื้อความนี้มีปรากฏในมหาปรินิพพานสูตร แห่งพระไตรปิฎก และอรรถกถาสุมังคลวิสาสินี 

      นาย ชิต บุรทัต ผู้ประพันธ์ เรื่องโดยย่อ สามัคคี เภทคำฉันท์ มีว่าสมัยก่อนที่พระพุทธเจ้าจะปรินิพพานไม่นานนัก พระเจ้าอชาตศัตรูทรงครองราชสมบัติที่นครราชคฤห์ แคว้นมคธ        พระองค์ทรงมีวัสสการพราหมณ์ ผู้ฉลาดและรอบรู้ศิลปศาสตร์ เป็นที่ปรึกษาราชกิจทั่วไป ขณะนั้นทรงปรารภจะแผ่พระราชอาณาเขตเข้าไปถึงแคว้นวัชชี แต่กริ่งเกรงว่ามิอาจเอาชนะได้ด้วยการส่งกองทัพเข้ารุกราน เนื่องจากบรรดากษัตริย์ลิจฉวีมีความสามัคคีสูง และการปกครองอาณาประชาราษฎ์รด้วยธรรม อันนำความเจริญเข้มแข็งมาสู่แว่นแคว้น พระเจ้าอชาตศัตรูทรงหารือเรื่องนี้เป็นการเฉพาะกับวัสสการพราหมณ์ จึงเห็นแจ้งในอุบายจะเอาชนะด้วยปัญญาวัน หนึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จออกว่าราชการพร้อมพรั่งด้วยเสนาอำมาตย์ชั้น ผู้ใหญ่ เมื่อเสร็จวาระเรื่องอื่นๆลงแล้ว จึงตรัสในเชิงหารือว่า หากพระองค์จะยกทัพไปปราบแคว้นวัชชีใครจะเห็นคัดค้านประการใดวัสสการพราหมณ์ ฉวยโอกาสเหมาะกับอุบายตนที่วางไว้ ก็กราบทูลท้วงว่าเห็นทีจะเอาชนะไม่ได้เลย เพราะกษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์ล้วนผูกพันเป็นกัลยาณมิตรอย่างมั่นคง มีความสามารถในการศึกและกล้าหาญ อีกทั้งโลกจะติเตียน หากฝ่ายมคธจงใจประทุษร้ายรุกรานเมืองอื่น ขอให้ยับยั้งการทำศึกเอาไว้เพื่อความสงบของประชาราษฎร์พระเจ้าอชาตศัตรูทรง แสร้งแสดงพระอาการพิโรธหนัก ถึงขั้นรับสั่งจะให้ประหารชีวิตเสีย แต่ทรงเห็นว่าวัสสการพราหมณ์รับราชการมานาน จึงลดโทษการดูหมิ่นพระบรมเดชานุภาพครั้งนั้น เพียงแค่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนตีอย่างแสนสาหัสจนสลบไสล ถูกโกนหัวประจานและ เนรเทศออกไปจากแคว้นมคธ ข่าววัสสการพราหมณ์เดินทางไปถึงนครเวสาลี เมืองหลวงของแคว้นวัชชี ทราบไปถึงพระกรรณของหมู่กษัตริย์ลิจฉวี จึงรับสั่งให้เจ้าพนักงานตีกลองสำคัญเรียกประชุมราชสภาว่า ควรจะขับไล่หรือเลี้ยงเอาไว้ดี ในที่สุดที่ประชุมราชสภาลงมติให้นำเข้าเฝ้าเพื่อหยั่งท่าทีและฟังคารมก่อน แต่หลังจากกษัตริย์ลิจฉวีทรงซักไซ้ไล่เลียงด้วยประการต่างๆ ก็หลงกลวัสสการพราหมณ์ ทรงรับไว้ทำราชการในตำแหน่งอำมาตย์ผู้พิจารณาพิพากษาคดีและตั้งเป็นครูฝึกสอนศิลปวิทยาแก่ ราชกุมารของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวีด้วย  จากนั้นต่อมา พราหมณ์เฒ่าก็ทำที่ปฎิบัติงานในหน้าที่อย่างดี ไม่มีสิ่งใดบกพร่อง จนหมู่กษัตริย์ลิจฉวีไว้วางพระทัยแผนการทำลายความสามัคคีได้เริ่มจากวัสสการพราหมณ์ใช้กลอุบายให้บรรดาราชโอรสกษัตริย์ลิจฉวีระแวงกัน โดยแกล้งเชิญแต่ละองค์ไปพบเป็นการส่วนตัว แล้วถามปัญหาธรรมดาที่รู้ๆ กันอยู่ เมื่อองค์อื่นซักเรื่องราวว่าสนทนาอะไรกับอาจารย์บ้าง แม้ราชกุมารองค์นั้นจะตอบความจริง แต่ก็ไม่มีใครเชื่อถือ ก่อให้เกิดความระแวงและแตกร้าวในบรรดาราชกุมาร กระทั่งลุกลามไปสู่กษัตริย์ลิจฉวี ผู้เป้นพระราชบิดาทุกองค์ ทำให้ความสามัคคีค่อยๆ เสื่อมลงจนกระทั่งไม่เข้าร่วมประชุมราชสภา หรือได้ยินเสียงกลองก็ไม่สนใจประชุม เมื่อมาถึงขั้นนี้วัสสการพราหรณ์จึงลอบส่งข่าวไปให้พระเจ้าอชาตศัตรูยกทัพมาตีแคว้นวัชชีได้เป็นผลสำเร็จ
        สามัคคีเภทคำฉันท์ แต่งขึ้นเพื่อมุ่งสรรเสริญธรรมแห่งความสามัคคีเป็นแก่นของเรื่อง และหลักธรรมข้อนี้ไม่ล้าสมัย สามารถยังประโยชน์ให้เกิดขึ้นแก่หมู่ชนที่มีความพร้อมเพรียงกันพัฒนาสังคม หากนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง
       หลักธรรมสำคัญ สะท้อนให้เห็นถึงการแตกความสามัคคีกันระหว่างเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี เป็นสาเหตุนำไปสู่การเสียแคว้นวัชชีแก่พระเจ้าอชาตศัตรู ผู้ครองแคว้นมคธ ทั้งที่แต่เดิมนั้น กษัตริย์ลิจฉวีทุกองค์ล้วนตั้งมั่น อยู่ในธรรมที่เรียกว่า 'อปริหานิยธรรม' คือ ธรรมอันเป็นไปเพื่อเหตุแห่งความเจริญฝ่ายเดียว ผู้ปฏิบัติจักไม่เป็นไปในทางเสื่อม อันได้แก่
    ๑. เมื่อมีกิจใดเกิดขึ้น ก็ประชุมกันปรึกษาในกิจนั้น
    ๒. เมื่อประชุมก็พร้อมเพรียงกันประชุม เมื่อเลิกก็พร้อมเพรียงกันเลิก และพร้อมเพรียงกันกระทำกิจอันควรทำ
    ๓. ถือมั่นตามขนบธรรมเนียมหรือประเพณีอันดีอันชอบที่มีอยู่ ไม่เลิกถอน หรือดัดแปลงเสียใหม่
   ๔. มีความเคารพยำเกรงผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นผู้ใหญ่ ทั้งเชื่อถือกระทำตามถ้อยคำบัญชาและคำแนะนำสั่งสอนของผู้เป็นใหญ่นั้น
   ๕. ไม่ประทุษร้ายข่มเหงบุตรและภริยาของกันและกันด้วยประการใดๆ
   ๖. ไม่ลบหลู่ดูหมิ่นต่อเจดียสถาน หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ และการกระทำพลีกรรมบวงสรวงก็กระทำตามควร
   ๗. อำนวยความคุ้มครองป้องกันแก่พระอรหันต์ บรรดาที่มีอยู่ในแว่นแคว้นวัชชีให้เป็นสุขและปราศจากภยันตราย

         สามัคคี เภทคำฉันท์ เป็นกวีนิพนธ์ ที่มีความงดงาม ใช้ถ้อยคำอย่างละเมียดละไม โอ่อ่าอลังการในการใช้แบบแผนฉันทลักษณ์ของกาพย์และฉันท์
         ลักษณะเด่น คำประพันธ์ที่ใช้แต่งสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นใช้ฉันท์และกาพย์สลับกัน จึงเรียกว่า คำฉันท์ โดยมีฉันท์ถึง 20 ชนิดด้วยกัน นับว่าเป็นวรรณคดีคำฉันท์เล่มหนึ่งที่อนุชนรุ่นหลังยกย่องและนับถือเป็นแบบเรื่อยมา โดยเน้นจังหวะ ลหุ คือเสียงเบาอย่างเคร่งครัด กำหนดเป็นสระเสียงสั้นไม่มีตัวสะกด เสมอ        
      การใช้สัททุลลวิกกีฬิต ฉันท์แต่งบทไหว้ครู  หรือการใช้มาลินีฉันท์ และสัทธราฉันท์แต่งบทขรึมขลัง  การใช้กาพย์และฉันท์ลักษณะอื่นๆ ที่ให้อารมณ์ความรู้สึกสอดคล้องกับเนื้อหา อารมณ์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องน่าหวาดกลัว เกรี้ยวกราด ตกใจ ผาดโผน ลีลาอ่อนไหวโน้มน้ำใจ หรือเศร้าสังเวช จนกล่าวได้ว่า เอกภาพของเนื้อหาและรูปแบบฉันทลักษณ์ในสามัคคีเภทคำฉันท์นั้นแต่งได้ดียิ่ง    ควรเป้นแบบอย่างในการศึกษาเรียนรู้ เช่น กมลฉันท์, กาพย์ฉบัง, จิตรปทาฉันท์, , โตฏกฉันท์, ภุชงคประยาตฉันท์, มาณวกฉันท์, มาลินีฉันท์, วสันตดิลกฉันท์, วังสัฏฐฉันท์, วิชชุมมาลาฉันท์, สัททุลวิกกีฬิตฉันท์, สัทธราฉันท์, สาลินีฉันท์, สุรางคนางค์ฉันท์, อินทรวิเชียรฉันท์, อินทรวงศ์ฉันท์, อีทิสังฉันท์, อุปชาติฉันท์, อุ ปัฏฐิตาฉันท์ และอุเปนทรวิเชียรฉันท์
     อนึ่ง แม้จะใช้กาพย์ฉบัง แต่ก็ยังจัดในหมวดของฉันท์ได้ ทั้งนี้กาพย์ฉบังที่ใช้ในเรื่อง กำหนดเป็นคำครุทั้งหมด 
    แหล่งที่มาhttp://www.oknation.net/blog/wisawaklon/2011/03/08/entry-1สืบค้นเมื่อ6 พ.ย.2554

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.005232 sec.