per_ad


สิทธิเด็ก
กฎหมายสิทธิเด็ก
มีที่มาจากอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก (
Convention on the Rights of the Child) ซึ่งเป็นกฎหมายระหว่างประเทศที่ได้กำหนดสิทธิพื้นฐานของเด็กไว้ 4 ประการ คือ

 1.สิทธิที่จะมีชีวิตรอด เป็นสิทธิที่จะได้รับการเลี้ยงดูทั้งทางร่างกาย จิตใจ ตลอดจนที่อยู่อาศัยให้เกิดความปลอดภัย และต้องได้รับการดูแลด้านสุขภาพจากบริการทางการแพทย์

 2.สิทธิที่จะได้รับการพัฒนา เด็กทุกคนต้องได้รับสิทธิรับการศึกษาที่ดี ได้รับโภชนาการที่เหมาะสม

3.สิทธิที่จะได้รับความคุ้มครอง เป็นสิทธิที่เด็กทุกคนจะได้รับความคุ้มครองให้รอดพ้นจากการทารุณทุกรูปแบบ เช่น การทำร้าย การนำไปขาย ใช้แรงงานเด็ก หรือแสวงหาประโยชน์มิชอบจากเด็ก

 4.สิทธิที่ในการมีส่วนร่วม มีสิทธิที่จะแสดงออกและแสดงความคิดเห็นต่อสังคมในเรื่องที่มีผลกระทบกับเด็ก กฎหมายสิทธิเด็กดังกล่าวปัจจุบันหลายประเทศได้ยอมรับและนำมาอนุวัติบัญญัติ เป็นกฎหมายภายในของแต่ละประเทศสมาชิกเป็นจำนวนมาก และประเทศไทยก็รับหลักการดังกล่าวมาบัญญัติเป็นกฎหมายภายในชื่อว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546 ได้บัญญัติหลักเกณฑ์ในการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพและป้องกันการละเมิด สิทธิเด็กไว้หลายประการ ครอบคลุมสิทธิเด็กตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กข้างต้น โดยสรุปประเด็นสำคัญดังนี้

 1.คณะกรรมการคุ้มครองเด็ก กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการทำหน้าที่ดำเนินการและให้คำปรึกษาแก่หน่วยงานที่ เกี่ยวข้อง ในเรื่องการสงเคราะห์คุ้มครองสวัสดิภาพ และส่งเสริมความประพฤติเด็กเพื่อดำเนินการให้การคุ้มครองสิทธิเด็กเกิดเป็น รูปธรรมและมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง

 2.การปกป้องคุ้มครองเด็ก กฎหมายได้กำหนดหน้าที่ของผู้ปกครองและบุคคลผู้เกี่ยวข้องให้ต้องปฏิบัติต่อ เด็กที่เหมาะสมไว้อย่างชัดเจน และผู้ฝ่าฝืนย่อมมีโทษทั้งทางปกครองและทางอาญา เช่น ผู้ปกครอง กฎหมายกำหนดหน้าที่ต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน และพัฒนาเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตน ตามสมควรแก่ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น และต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองดูแลของตนมิให้ตกอยู่ใน ภาวะอันน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ

 ผู้ปกครองต้องไม่กระทำการดังต่อไปนี้

(1) ทอดทิ้งเด็กไว้ในสถานรับเลี้ยงเด็ก หรือสถานพยาบาล หรือไว้กับบุคคลที่รับจ้างเลี้ยงเด็ก หรือที่สาธารณะ หรือสถานที่ใด โดยเจตนาที่จะไม่รับเด็กกลับคืน

 (2) ละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพ หรือให้การเลี้ยงดูที่เหมาะสม

 (3) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งที่จำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือสุขภาพอนามัยจนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

 (4) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการขัดขวางการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก

 

(5) ปฏิบัติต่อเด็กในลักษณะที่เป็นการเลี้ยงดูโดยมิชอบ

 

บุคคลทั่วไป กฎหมายบัญญัติห้ามมิให้ผู้ใดกระทำการดังต่อไปนี้ ไม่ว่าเด็กจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม คือ

 (1) กระทำหรือละเว้นการกระทำอันเป็นการทารุณกรรมต่อร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

 (2) จงใจหรือละเลยไม่ให้สิ่งจำเป็นแก่การดำรงชีวิต หรือการรักษาพยาบาลแก่เด็กที่อยู่ในความดูแลของตน จนน่าจะเกิดอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจของเด็ก

 (3) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร หรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด

 (4) โฆษณาทางสื่อมวลชนหรือเผยแพร่ด้วยประการใด เพื่อรับเด็กหรือยกเด็กให้แก่บุคคลอื่นที่มิใช่ญาติของเด็ก เว้นแต่เป็นการกระทำของทางราชการ หรือได้รับอนุญาตจากทางราชการแล้ว

 (5) บังคับ ขู่เข็ญ ชักจูง ส่งเสริม ยินยอม หรือกระทำด้วยประการใดให้เด็กไปเป็นขอทาน เด็กเร่ร่อน หรือใช้เด็กเป็นเครื่องมือในการขอทาน หรือการกระทำผิด หรือกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก

 (6) ใช้ จ้าง หรือวานเด็กให้ทำงาน หรือกระทำการอันอาจเป็นอันตรายแก่ร่างกายหรือจิตใจ มีผลกระทบต่อการเจริญเติบโต หรือขัดขวางต่อพัฒนาการของเด็ก

 (7) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กเล่นกีฬา หรือให้กระทำการใด เพื่อแสวงหาประโยชน์ทางการค้าอันมีลักษณะเป็นการขัดขวางต่อการเจริญเติบโต หรือพัฒนาการของเด็ก หรือมีลักษณะเป็นการทารุณกรรมต่อเด็ก

(8) ใช้หรือยินยอมให้เด็กเล่นการพนันไม่ว่าชนิดใด หรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน สถานค้าประเวณี หรือสถานที่ที่ห้ามมิให้เด็กเข้า

(9) บังคับ ขู่เข็ญ ใช้ ชักจูง ยุยง ส่งเสริม หรือยินยอมให้เด็กแสดงหรือกระทำการอันมีลักษณะลามกอนาจาร ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อให้ได้มาซึ่งค่าตอบแทนหรือเพื่อการใด

(10) จำหน่าย แลกเปลี่ยน หรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก เว้นแต่การปฏิบัติทางการแพทย์

(11) ห้ามโฆษณาหรือเผยแพร่ทางสื่อมวลชนหรือสื่อสารสนเทศประเภทใด ซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับตัวเด็กหรือผู้ปกครอง โดยเจตนาที่จะทำให้เกิดความเสียหายแก่จิตใจ ชื่อเสียง เกียรติคุณ หรือสิทธิประโยชน์อื่นใดของเด็ก หรือเพื่อแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นโดยมิชอบ

กฎหมายคุ้มครองเด็กมีบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนข้อห้ามดังกล่าวเป็นการเฉพาะอยู่ แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม หากมีกฎหมายอื่นที่มีโทษหนักกว่าต้องลงโทษตามกฎหมายนั้น เช่น การทารุณเด็กได้รับอันตรายสาหัสหรือตายก็ต้องรับโทษตามประมวลกฎหมายอาญาฐาน ทำร้ายร่างกายผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัส หรือฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา ซึ่งมีโทษจำคุกหกเดือนถึงสิบปี หรือโทษประหารชีวิต แล้วแต่กรณี

นอกจากนี้ กฎหมายยังกำหนดหน้าที่ของผู้พบเห็นหรือประสบพฤติการณ์ที่มีการทำทารุณกรรม ต่อเด็กให้รีบแจ้งหรือรายงานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ พนักงานฝ่ายปกครอง หรือผู้มีหน้าที่คุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งเหตุแล้วพนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเข้า ตรวจค้นและมีอำนาจแยกตัวเด็กจากครอบครัวของเด็กเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ได้โดยเร็วที่สุด และกฎหมายก็บัญญัติคุ้มครองผู้แจ้งเหตุที่กระทำโดยสุจริตให้ได้รับความคุ้ม ครองไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา หรือทางปกครองแต่อย่างใด

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.005766 sec.