krusunsanee


ซีไรต์
                                              ซีไรต์ S.E.A. Write

          ซีไรต์ ทับศัพท์มาจากคำว่า S.E.A. Write ซึ่งย่อมาจาก Southeast Asian Writers' Award หมายถึง รางวัลวรรณกรรมที่มอบ ให้แก่ นักเขียน 10 ประเทศอาเซียน ได้แก่  บรูไน  กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย และเวียดนาม    ชื่อเต็มในภาษาไทย คือ 'รางวัลวรรณกรรมดีเด่นอาเซียน'    แต่มักจะเรียกย่อๆว่า รางวัล ซีไรต์อันเป็นชื่อซึ่งรู้จักกันทั่วไปในวงการ ประพันธ์ของประเทศไทย
          ประวัติความเป็นมาของรางวัลซีไรต์ ต้นปี พ.ศ. 2522 ฝ่ายบริหารของโรงแรมโอเรียนเต็ลได้ริเริ่มรางวัลนี้ เนื่องจากโรงแรม โอเรียนเต็ลมีประวัติเกี่ยวข้องกับนักเขียนชั้นนำของโลกมา เป็นเวลาช้านาน จะเห็นได้จากการที่จัดส่วนหนึ่งเป็น ' ตึกนักเขียน' (AUTHORS' RESIDENCE) ขึ้น ประกอบด้วยห้องชุดพิเศษ โดยใช้ชื่อนักเขียนคนสำคัญที่เคยมาพัก ได้แก่ ซอมเมอร์เซ้ท มอห์ม, โนเอล โคเวิด, โจเซฟ คอนราด และเจมส์ มิเชนเนอร์ นอกจากนี้ยังมีห้องชุด เกรแฮม กรีน, จอห์นเลอ คาร์เร่ และ บาบาร่า คาร์แลนด์ ในตึกริเวอร์วิงด้วย ฝ่ายบริหารของโรงแรมโอเรียนเต็ลจึงได้ร่วมปรึกษากับ บริษัท การบินไทย และกลุ่มบริษัทในเครือ อิตัลไทย จัดตั้งรางวัลวรรณกรรมนี้ขึ้น    โดยมีพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าเปรม
บุรฉัตร ทรงเป็นประธานและได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศ ไทย และสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
                ต่อมามูลนิธิจิม ทอมป์สัน ได้เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2524 (แต่ถอนตัวออกในปี 2530), ธนาคารกรุงเทพ เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2527 และ บริษัทริชมอนเด้ (ประเทศไทย) จำกัด เข้าร่วมในปี พ.ศ. 2531 หัวข้อในการหารือในครั้งนั้นคือ การส่งเสริมนักเขียนในกลุ่มอาเซียนทั้ง 10 และการเผยแพร่ให้โลกรู้ถึงวัฒนธรรมทางวรรณกรรมของภูมิภาคนี้ 
             วัตถุประสงค์มีดังนี้ คือ
               เพื่อให้เป็นที่รู้จักถึงความสามารถด้านสร้างสรรค์ของนักเขียนในกลุ่มประเทศอาเซียน
               เพื่อให้ทราบถึงโภคทรัพย์ทางวรรณกรรม ทรัพย์สินทางปัญญาวรรณศิลป์แห่งกลุ่มประเทศอาเซียน
              เพื่อรับทราบ รับรอง ส่งเสริมและจรรโลงเกียรติ อัจฉริยะ ทางวรรณกรรมของนักเขียนผู้สร้างสรรค์
              เพื่อส่งเสริมความเข้าใจและสัมพันธภาพอันดีในหมู่นักเขียนและประชาชนทั่วไปในกลุ่มประเทศอาเซียน
         การเลือกสรรงานวรรณกรรม มีดังนี้ คือ
              เป็นงานเขียนภาษาไทย
              เป็นงานริเริ่มของผู้เขียนเอง มิใช่งานแปลหรือแปลงจากของผู้อื่น
              ผู้เขียนยังมีชีวิตอยู่ขณะส่งงานเข้าประกวด
              เป็นงานตีพิมพ์เผยแพร่ (มี ISBN)
              เป็นเล่มครั้งแรกย้อนหลังไม่เกิน 3 ปี ภายในวันสิ้นกำหนดส่งงาน งานวรรณกรรมที่เคยได้รับรางวัลอื่นใดในประเทศไทยมาแล้วจะส่งเข้าพิจารณาอีกก็ได้ 
              คณะกรรมการจัดงาน  คณะกรรมการดำเนินงาน ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 มีพระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าเปรม บุรฉัตร เป็นประธาน ภายหลังพระองค์ท่านสิ้นพระชนม์ลง ในปี พ.ศ. 2524 และหม่อมงามจิตต์ บุรฉัตร ได้ดำรงตำแหน่งประธานสืบแทนจนถึงแก่อนิจกรรมในปี พ.ศ. 2526 และผู้ที่สืบตำแหน่งต่อมาคือ พระวรวงค์เธอพระองค์เจ้าวิมลฉัตร จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2534 ม.จ. สุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ดำรงตำแหน่งประธานจนถึงปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปี พ.ศ. 2541 ม.ล. พีระพงศ์ เกษมศรีดำรงตำแหน่งประธานสืบแทน และในปี พ.ศ. 2542 จนถึงปัจจุบัน ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการฯ    
            นอกจากนี้คณะกรรมการประกอบด้วย สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ผู้แทนสถานเอกอัครราชทูตกลุ่มประเทศอาเซียน 10 ประเทศ และผู้แทนจากบริษัท การบินไทย จำกัด มหาชน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทย เบพเวอเรจ จำกัด มูลนิธิเร็กซ์ มอร์แกน บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู (ประเทศไทย) จำกัด มูลนิธิ จุมภฎ-พันธุ์ทิพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย บริษัท โตชิบา ไทยแลนด์ จำกัด ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย บริติช แก๊ส ไทยแลนด์ พีทีอี ลิมิเต็ด บริษัท เวิลด์ แทรเวล เซอร์วิส จำกัด และโรงแรมโอเรียนเต็ล 
         คณะกรรมการพิจารณา (คัดเลือก และ ตัดสิน)
       นักเขียนและคณะบุคคลผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรมของแต่ละประเทศ จะ เป็นผู้เลือกสรรตัดสินว่าผู้ใดควรได้รับรางวัล ดังเช่นในประเทศไทย คณะกรรมการพิจารณาวรรณกรรมฯ มาจากการเสนอชื่อของสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย แบ่งเป็น 2 คณะ คือ คณะกรรมการคัดเลือก (SELECTION COMMITTEE) มีจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย ผู้แทนจากสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทยฯ 3 ท่าน ผู้ แทนจากสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย 3 ท่าน และผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรม 1 ท่าน ให้คณะกรรมการคัดเลือกกันเองเป็นประธานหนึ่งคน คณะกรรมการคัดเลือกมีหน้าที่รับงานวรรณกรรมที่มีผู้เสนอเข้าพิจารณา และพิจารณาคัดเลือกให้เหลืออย่างน้อย 7 เล่ม แต่ไม่เกิน 10 เล่ม เสนอต่อคณะกรรมการตัดสิน คณะกรรมการตัดสิน (BOARD OF JURIES) มีจำนวน 7 ท่าน ประกอบด้วย นายกสมาคมภาษาและหนังสือหรือผู้แทน นายกสมาคมนักเขียนฯ หรือผู้แทน นักเขียนหรือกวี ผู้ทรงเกียรติคุณ 1 ท่าน ผู้ทรงคุณวุฒิทางวรรณกรรม 3 ท่าน ประธาน คณะกรรมการคัดเลือก (โดยตำแหน่ง) กรรมการตัดสินจะเป็นบุคคลเดียวกันกับกรรมการคัดเลือกไม่ได้ ยกเว้น ประธานคณะกรรมการคัดเลือก และไม่เป็นผู้ได้รับประโยชน์โดยตรงจากงานที่ได้รับการคัดเลือก
         คณะกรรมการตัดสินมีหน้าที่พิจารณางานวรรณกรรมที่คณะกรรมการคัดเลือกเสนอ และตัดสิน 1 เล่ม ให้ได้รับรางวัลซีไรต์ กำหนดเวลาส่งงานวรรณกรรมเข้าพิจารณาให้กำหนดวันสิ้นสุดในวันที่ 31 มีนาคม (สำหรับงานวรรณกรรมประเภทนวนิยาย) และวันที่ 30 เมษายน (สำหรับงานวรรณกรรมประเภทเรื่องสั้นและกวีนิพนธ์) ของทุกปี และการตัดสินให้รางวัลจะประกาศผลภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี ผู้ส่งงานวรรณกรรมเข้ารับการพิจารณารับรางวัล ได้แก่ องค์กร และสถาบันที่ทำงานเกี่ยวกับวรรณกรรม สำนักพิมพ์ นักวิชาการวรรณกรรม นักเขียน นักวิจารณ์ และนักอ่านทั่วไป 
        รางวัลประกอบด้วย
        1. แผ่นโลหะจารึกเป็นอนุสรณ์เกียรติประวัติ
        2. ทัศนาจร นักเขียนไทยที่ได้ รับรางวัลซีไรต์มีสิทธิเลือกไปเที่ยวประเทศใดประเทศหนึ่งในกลุ่มประเทศอา เซียน เป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยผู้จัดจะเป็นผู้ออกค่าเดินทาง ค่าที่พัก และอาหาร ทั้งหมด สามารถใช้สิทธิภายในระยะเวลา 1 ปี นักเขียนกลุ่มประเทศอาเซียน 9 ประเทศ มารับรางวัลพร้อมกับทัศนาจรที่ประเทศไทยกับนักเขียนซีไรต์ไทย เป็นเวลา 1 สัปดาห์
        3. เงินสด
  แหล่งที่มา • www.seawrite.com • ไทยวิกิพีเดีย

โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.005279 sec.