Kru_JUNJAO Article


การเขียนเรียงความ

 

การเขียนเรียงความ

          เรียงความคือ การนำเอาคำมาประกอบแต่งเป็นเรื่องราวอาจใช้วิธีการเขียนหรือการพูด ก็ได้ การเขียน จดหมาย รายงาน ตอบคำถาม ข่าว บทความ ฯลฯ อาศัยเรียงความเป็นพื้นฐาน ทั้งนั้น ดังนั้น การเขียนเรียงความจึงมีความสำคัญ ช่วยให้พูดหรือเขียนในรูปแบบต่าง ๆ ได้ดี นอกจากนี้ก่อนเรียงเขียนความเราต้องค้นคว้า รวบรวมความรู้ ความคิด และนำมาจัดเป็นระเบียบ จึงเท่ากับเป็นการฝึกสิ่งเหล่านี้ให้กับตนเองได้อย่างดีอีกด้วย

หัวข้อ

องค์ประกอบของเรียงความ
     เรียงความเรื่องหนึ่งประกอบด้วยส่วนสำคัญ ๓ ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่องและส่วนท้ายหรือสรุป ส่วนนำเรื่องจะเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ส่วนเนื้อเรื่อง เป็นส่วนขยายโครงเรื่องที่วางเอาไว้ส่วนนี้จะประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้า ส่วนท้ายของเรื่องจะเป็นการเน้นย้ำประเด็นหลักหรือจุดประสงค์

     ๑. การเขียนส่วนนำ  ดังได้กล่าวแล้วว่าส่วนนำเป็นส่วนที่แสดงประเด็นหลักหรือจุดประสงค์ของเรื่อง ดังนั้น ส่วนนำจึงเป็นการบอกผู้อ่านถึงเนื้อหาที่นำเสนอและยังเป็นการเร้าความสนใจให้อยากอ่าน เรื่องจนจบ การเขียนส่วนนำเพื่อเร้าความสนใจนั้นมีหลายวิธี แล้วแต่ผู้เขียนจะเลือกตามความเหมาะสม อาจนำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ คำถาม การเล่าเรื่องที่จะเขียน การยกคำพูด ข้อความ หรือสุภาษิตที่น่าสนใจ บทร้อยกรอง การอธิบายความเป็นมาของเรื่อง การบอกจุดประสงค์ของการเขียน การให้คำจำกัดความ ของคำสำคัญของเรื่องที่จะเขียน  แรงบันดาลใจ ฯลฯ ดังตัวอย่าง เช่น
            ๑.๑ นำด้วยปัญหาเร่งด่วน หรือหัวข้อที่กำลังเป็นเรื่องที่น่าสนใจ เช่น เดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเดินไปทางไหน จะพบกลุ่มสนทนากลุ่มย่อย ๆ วิสัชนากันด้วยเรื่อง “วิสามัญฆาตกรรม” ในคดียาเสพติด บ้างก็ว่าเป็นความชอบธรรม บ้างก็ว่ารุนแรงเกินเหตุ หลายคนจึงตั้งคำถามว่า ถ้าไม่ทำวิสามัญฆาตกรรมกรณียาเสพติด แล้วจะใช้วิธีการชอบธรรมอันใด ที่จะล้างบางผู้ค้าหรือผู้บ่อนทำลายเหล่านี้ลงได้ในเวลาอันรวดเร็ว

          ๑.๒ นำด้วยคำถาม เช่น ถ้าถามหนุ่มสาวทั้งหลายว่า “อยากสวย” “อยากหล่อหรือไง” คำตอบที่ได้คงจะเป็น
คำตอบเดียวกันว่า “อยาก” จากนั้นก็คงมีคำถามต่อไปว่า “แล้วทำอย่างไรจึงจะสวยจะหล่อ ได้สมใจในเมื่อธรรมชาติของหลาย ๆ คนก็มิได้สวยได้หล่อมาแต่ดั้งเดิม จะต้องพึ่งพา เครื่องสำอาง หรือการศัลยกรรมหรือไร แล้วจะสวยหล่อแบบธรรมชาติได้หรือไม่ ถ้าได้ จะทำอย่างไร” 
           ๑.๓ นำด้วยการเล่าเรื่องที่จะเขียน เช่น งานมหกรรมหนังสือนานาชาติจัดขึ้นเป็นประจำในวันพุธแรกของเดือนตุลาคมของทุกปีที่เมืองแฟรงเฟิร์ต ประเทศเยอรมนี สำหรับปี พ.ศ. ๒๕๔๕ นี้ นับเป็นครั้งที่ ๕๓
     ๑.๔ นำด้วยการยกคำพูด ข้อความ สุภาษิตที่น่าสนใจ  เช่น ในอดีตเมื่อกล่าวถึงครู หรือค้นหาคุณค่าของครู หลายคนคงนึกถึงความเปรียบทั้งหลายที่มักได้ยินจนชินหู ไม่ว่าจะเป็นความเปรียบที่ว่า “ครูคือเรือจ้าง” “ครูคือปูชนียบุคคล” หรือ
“ครูคือผู้ให้แสงสว่างทางปัญญา” ฯลฯ ความเปรียบเหล่านี้ล้วนแสดงให้เห็นถึงคุณค่า ความเสียสละ และการเป็นนักพัฒนาของครู ในขณะที่ปัจจุบันทัศนคติในการมองครูเปลี่ยนไป หลายคนมองว่าครูเป็นแค่ผู้ที่มีอาชีพรับจ้างสอนหนังสือเท่านั้น เพราะครูสมัยนี้ไม่ได้อบรม ความประพฤติให้แก่ผู้เรียนควบคู่ไปกับการให้ความรู้ ไม่ได้เป็นตัวอย่างที่ดีที่จะเรียกว่า “แม่พิมพ์ของชาติ” อาชีพครูเป็นอาชีพที่ตกต่ำและดูต้อยต่ำในสายตาของคนทั่วไป ทั้ง ๆ ที่อาชีพนี้เป็นอาชีพที่ต้องทำหน้าที่ในการพัฒนาคนที่จะไปเป็นกำลังสำคัญของการพัฒนาประเทศชาติต่อไป จึงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการทบทวนบทบาทหน้าที่คุณธรรมและอุดมการณ์ของความเป็นครูกันเสียที
 ๑.๕ นำด้วยบทร้อยกรอง เช่น

      “ความรักเหมือนโรคา
 บันดาลตาให้มืดมน
 
     ไม่ยินและไม่ยล
 อุปสรรคคะใดใด
 
     ความรักเหมือนโคถึก
 กำลังคึกผิขังไว้
 
     ก็จะโลดจากคอกไป
 บ่ยอมอยู่ ณ ที่ขัง
 
     ถ้าหากปล่อยไว้
 ก็ดึงไปด้วยกำลัง
 
     ยิ่งห้ามก็ยิ่งคลั่ง
 บ่หวนคิด
 (จากบทละครเรื่อง “มัทนพาธา” ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว)

          ความรักเป็นอารมณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งของมนุษย์ มีทั้งประโยชน์และเป็นโทษในเวลาเดียวกัน ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของความบริสุทธิ์ จริงใจและความมีเหตุผล ย่อมนำพาผู้เป็นเจ้าของความรักไปในทางที่ถูกที่ควร แต่ถ้าความรักนั้นเป็นเพียงอารมณ์อันเกิดจากความหลงใหลในรูปกายภายนอก ความชื่นชมตามกระแสและความหลงผิด ความรักก็จะก่อให้เกิดโทษ จึงมีผู้เปรียบเปรยว่า “ความรักทำให้คนตาบอด” ด้วยบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวในเรื่องมัทนพาธา ซึ่งได้แสดงให้เห็นภาพของความลุ่มหลง อันเกิดจากความรักและทุกข์สาหัสอันเกิดจากความรักได้เป็นอย่างดี สมกับชื่อเรื่องว่า มัทนพาธาที่แปลว่า ความบาดเจ็บแห่งความรัก

      ๑.๖ นำด้วยการอธิบายความเป็นมาของเรื่อง เช่น เมื่อสัปดาห์ที่แล้วข้าพเจ้าได้ไปร่วมงานพระราชทานเพลิงศพของผู้ใหญ่ท่านหนึ่ง ท่านเป็นอดีตรองผู้ว่าราชการจังหวัด จังหวัดหนึ่งทางภาคเหนือ ศพของท่านได้รับการบรรจุไว้ในโกศศพพระราชทาน เห็นดังนั้นแล้วทำให้ข้าพเจ้านึกถึงเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก ข้าพเจ้าจำได้ว่าตอนข้าพเจ้าไปเผาศพคุณตา คุณยายที่บ้านสวน จังหวัดสมุทรสงคราม ศพของท่านทั้งสองก็ได้รับการบรรจุไว้ในโกศเช่นกัน ซึ่งท่านทั้งสองก็เป็นพลเรือนธรรมดา ๆ ไม่ได้เป็นข้าราชการผู้ใหญ่ เรื่องนี้คงมีหลายคนสงสัยว่าทำไมพลเรือนธรรมดา ๆ ถึงมีโกศใส่ศพกับเขาด้วย ดังนั้นเพื่อทำความกระจ่างแก่เยาวชนและผู้สนใจ ในปัจจุบันนี้อาจจะไม่เคยเห็นศพชาวบ้านที่บรรจุในโกศ ข้าพเจ้าจึงได้ค้นคว้าเรื่องนี้มาเพื่อเป็นความรู้แก่ผู้สนใจทั่วไป

        ๑.๗ นำด้วยการบอกจุดประสงค์ของการเขียน เช่น สามก๊ก ที่ผู้อ่านทั้งในประเทศจีนและในประเทศไทยรู้จักกันดีนั้นเป็นนวนิยาย ส่วนสามก๊กที่เป็นประวัติศาสตร์ มีคนรู้น้อยมาก แม้คนจีนแผ่นดินใหญ่ที่ได้เรียนจบ ขั้นอุดมศึกษามาแล้ว ก็มีน้อยคน (น้อยมาก) ที่รู้พอสมควร บทความเรื่องนี้จึงขอเริ่มต้นจาก สามก๊ก ที่เป็นประวัติศาสตร   
       ๒. การเขียนส่วนเนื้อเรื่อง  เนื้อเรื่องเป็นส่วนสำคัญที่สุดของเรียงความ เพราะเป็นส่วนที่ต้องแสดงความรู้ ความคิดเห็น ให้ผู้อ่านทราบตามโครงเรื่องที่วางไว้ เนื้อเรื่องที่ต้องแสดงออกถึงความรู้ ความคิดเห็นอย่างชัดแจ้ง มีรายละเอียดที่เป็นข้อเท็จจริงและมีการอธิบายอย่างเป็นลำดับขั้น มีการหยิบยกอุทาหรณ์ ตัวอย่าง ทฤษฎี สถิติ คำกล่าว หลักปรัชญา หรือสุภาษิต คำพังเพย ฯลฯ สนับสนุนความรู้ความคิดเห็นนั้น เนื้อเรื่องประกอบด้วยย่อหน้าต่าง ๆ หลายย่อหน้าตาม สาระสำคัญที่ต้องการกล่าวถึงเปรียบกันว่า เนื้อเรื่องเหมือนส่วนลำตัวของคนที่ประกอบด้วย อวัยวะต่าง ๆ แต่รวมกันแล้วเป็นตัวบุคคล ดังนั้นการเขียนเนื้อเรื่องถึงจะแตกแยกย่อย ออกไปอย่างไร จะต้องรักษาสาระสำคัญใหญ่ของเรื่องไว้  การแตกแยกย่อยเป็นไปเพื่อประกอบให้สาระสำคัญใหญ่ของเรื่องซึ่งเปรียบเหมือนตัวคน สมบูรณ์ในแต่ละย่อหน้า ประกอบด้วยส่วนที่เป็นเนื้อหา คือ ความรู้หรือความคิดเห็นที่ต้องการแสดงออก การอธิบาย และอุทาหรณ์คือ การอ้างอิง ตัวอย่าง ฯลฯ ที่สนับสนุนให้เห็นจริงเห็นจัง ส่วนสำนวนโวหาร จะใช้แบบใดบ้าง โปรดศึกษาเรื่องสำนวนโวหารในหัวข้อต่อไป
      ตัวอย่างการเขียนเนื้อเรื่องแต่ละย่อหน้า 

      “อ๋า” เป็นเด็กชายตัวเล็ก ๆ อายุแค่ ๑๒ ปี ครั้งที่ลืมตาดูโลกได้แค่ ๓ เดือน แม่ก็ทอดทิ้ง ไป... ส่วนพ่อนั้นไม่เคยรักและห่วงใยอ๋าเลย สิ่งเดียวที่มีค่าที่สุดในชีวิตของพ่อคือ เฮโรอีน... ย่า...ลุง ... ป้า และอา ตอกย้ำให้อ๋าฟังเสมอว่า “อย่าทำตัวเลว ๆ เหมือนพ่อแกที่ติดเฮโรอีน จนตาย” หรือ “กลัวแกจะเจริญรอยตามพ่อเพราะเชื้อมันไม่ทิ้งแถว ติดคุกหัวโตเหมือนพ่อแก” คำพูดสารพัดที่อ๋ารับฟังมาตั้งแต่ยังพอจำความได้ ซึ่งอ๋าพยายามคิดตามประสาเด็กว่า “เป็นคำสั่งสอน” …หรือ “ประชดประชัน” กันแน่...  
        ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลของอ๋าถ้าเอ๋ยไปหลายคนคงรู้จัก เพราะเป็นพวกเศรษฐีที่ค้าขาย เป็นหลักอยู่ในเขตอำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี มาหลายชั่วอายุคนแล้ว ปู่กับย่ามีลูกทั้งหมด ๙ คน ทุกคนร่ำเรียนกันสูง ๆ และออกมาประกอบธุรกิจร่ำรวยเป็นล่ำเป็นสัน ยกเว้นพ่อของอ๋า ซึ่งไม่ยอมเรียน .. ประพฤติตนเสียหาย ... คบเพื่อนชั่ว ...จนติดเฮโรอีน และฉีดเข้าเส้น จนตายคาเข็ม ผลาญเงินปู่กับย่าไปมากมาย ยังทำให้ชื่อเสียงวงศ์ตระกูลป่นปี้ ปู่ช้ำใจจนตาย ส่วนย่าอกตรมจมทุกข์อยู่จนทุกวันนี้ พวกลุง...ป้า และอาต่างพากันเกลียดพ่อมากและก็ลาม มาถึง “อ๋า” ซึ่งเปรียบเสมือน “ลูกตุ้ม” ถ่วงวงศ์ตระกูล (คัดจากจันทิมา “ไอ้เลือดชั่ว” คอลัมน์ อนาคตไทย ฐานสัปดาห์วิจารณ์ ฉบับที่ ๖๑ (๗๑) วันที่ ๙ - ๑๕ มิ.ย. ๓๗ หน้า ๘๘ ระดับ มัธยมศึกษาตอนต้น หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน พ.ศ. ๒๕๓๐) จากเนื้อหา ในย่อหน้าต่าง ๆ ข้างต้นจะแบ่งเป็นส่วนต่าง ๆ ได้ดังนี้
          ๑. คือส่วนที่เป็นเนื้อหา
          ๒. คือส่วนที่เป็นการอธิบาย
          ๓. คือส่วนที่เป็นอุทาหรณ์หรือการอ้างอิง
          ๔. คือส่วนที่เป็นตัวอย่าง

  •           ๓. การเขียนส่วนท้ายหรือส่วนสรุป  ส่วนท้ายหรือส่วนสรุป ส่วนปิดเรื่องเป็นส่วนที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับเนื้อหา
    ส่วนอื่น ๆ โดยตลอด และเป็นส่วนที่บอกผู้อ่านว่าเรื่องราวที่เสนอมานั้นได้สิ้นสุดลงแล้ว วิธีการเขียนส่วนท้ายมีด้วยกันหลายวิธี เช่น เน้นย้ำประเด็นหลัก เสนอคำถามหรือข้อคิด สรุปเรื่อง เสนอความคิดของผู้เขียน ขยายจุดประสงค์ของผู้เขียน หรือสรุปด้วยสุภาษิต คำคม สำนวนโวหาร คำพังเพยอ้างคำพูดของบุคคล อ้างทฤษฎี หลักศาสนา หรือคำสอนและ บทร้อยกรอง ฯลฯ
  •           ๓.๑ เน้นย้ำประเด็นหลัก เช่น หน่วยงานของเราจะทำหน้าที่เป็นผู้ให้บริการที่รวดเร็ว ที่ซื่อตรง โปร่งใส ตรวจสอบได้
    เช่นนี้ต่อไป แม้การปฏิรูประบบราชการจะส่งผลให้หน่วยงานของเรา ต้องเปลี่ยนสังกัดไปอย่างไรก็ตาม นั่นเพราะเราตระหนักในบทบาทของเราในฐานะ “ข้าราชการ” แม้ว่าปัจจุบันเราจะถูกเรียกว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” ก็ตาม
  •           ๓.๒ เสนอคำถามหรือข้อคิดให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณ เช่น  เคราะห์กรรมทั้งหลายอันเกิดกับญาติพี่น้องและลูกหลานของผู้คนในบ้านเมืองของเรา อันเกิดจากความอำมหิตมักได้ของผู้ผลิตและผู้ค้ายาเสพติดเหล่านี้ เป็นสิ่งสมควรหรือไม่ กับคำว่า “วิสามัญฆาตกรรม” ท่านที่อ่านบทความนี้จบลง คงมีคำตอบให้กับตัวเองแล้ว
  •           ๓.๓ สรุปเรื่อง เช่น   การกินอาหารจืด ร่างกายได้รับเกลือเล็กน้อย จะทำให้ชีวิตจิตใจร่าเริงแจ่มใส น้ำหนักตัวมาก ๆ จะลดลง หัวใจไม่ต้องทำหน้าที่หนัก ไตทำหน้าที่ได้ดี ไม่มีบวมตามอวัยวะต่าง ๆ และเป็นการป้องกันโรคหัวใจ โรคไต หลอดเลือดแข็ง ความดันโลหิตสูง ข้ออักเสบ แผลกระเพาะอาหารและจะมีอายุยืนด้วย
  •           ๓.๔ เสนอความคิดเห็นของผู้เรียน เช่น   การปฏิรูปกระบวนการเรียนการสอนจะประสบผลสำเร็จหรือไม่ คงมิใช่แค่การเข้ารับการอบรมเทคนิค วิธีการสอนเพียงอย่างเดียว ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบอันสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดคือ ตัวผู้สอน ถ้าผู้สอนมีใจและพร้อมจะรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับความ กระตือรือร้น ที่จะพัฒนาตนเองเพื่อกลุ่มเป้าหมายคือผู้เรียน การปฏิรูปกระบวนการเรียน การสอนก็จะประสบความสำเร็จได้
  •           ๓.๕ ขยายจุดประสงค์ของผู้เขียน ควบคู่กับบทร้อยกรอง เช่น     แม้อาหารการกินและการออกกำลังกายจะทำให้คนเราสวยงามตามธรรมชาติอยู่ได้นาน แต่วันหนึ่งเราก็คงหนีไม่พ้นวัฏจักรของธรรมชาติ คือ การเกิด แก่ เจ็บและตาย ร่างกายและ
    ความงามก็คงต้องเสื่อมสิ้นไปตามกาลเวลา ฉะนั้นก็อย่าไปยึดติดกับความสวยงามมากนักแต่ควรยึดถือความงามของจิตใจเป็นเรื่องสำคัญ เพราะสิ่งที่จะเหลืออยู่ในโลกนี้เมื่อความตายมาถึงคือ ความดี ความชั่วของเราเท่านั้น ดังพระราชนิพนธ์ของพระมหาสมณเจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส ในเรื่องกฤษณาสอนน้องคำฉันท์ว่า
  •           พฤษภกาสร
     อีกกุญชรอันปลดปลง
     
         โททนต์เสน่งคง
     สำคัญหมายในกายมี
     
         นรชาติวางวาย
     มลายสิ้นทั้งอินทรีย์
     
         สถิตย์ทั่วแต่ชั่วดี
     ประดับไว้ในโลกา

แนวทางการเขียนเรียงความ

          เมื่อได้ศึกษาองค์ประกอบอันจะนำไปใช้ในการเขียนเรียงความแล้ว ก่อนที่จะลงมือเขียนเรียงความ ผู้เขียนต้องเลือกเรื่องและประเภทของเรื่องที่จะเขียน หลังจากนั้นจึงวางโครงเรื่องให้ชัดเจนเพื่อเรียบเรียงเนื้อหา ซึ่งการเรียบเรียงเนื้อหานี้ต้องอาศัยความสามารถในการเขียนย่อหน้า และการเชื่อมโยงย่อหน้าให้เป็นเนื้อหาเดียวกัน

          ๑. การเลือกเรื่อง ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของผู้เขียนที่ไม่สามารถเริ่มต้นเขียนได้ คือ ไม่ทราบจะเขียนเรื่องอะไร วิธีการแก้ปัญหาดังกล่าวคือ หัดเขียนเรื่องใกล้ตัวของผู้เขียน หรือเรื่องที่ผู้เขียนมีประสบการณ์ดี รวมทั้งเรื่องที่ผู้เขียนมีความรู้เป็นอย่างดี หรือเขียนเรื่องที่สนใจ เป็นเรื่องราว หรือเหตุการณ์ที่กำลังอยู่ในความสนใจของบุคคลทั่วไป นอกจากนี้ผู้เขียนอาจพิจารณาองค์ประกอบ ๔ ประการ เพื่อเป็นแนวทางในการตัดสินใจเลือกเรื่องที่จะเขียน ดังต่อไปนี้ก็ได้
          ๑.๑ กลุ่มผู้อ่าน ผู้เขียนควรเลือกเขียนเรื่องสำหรับกลุ่มผู้อ่านเฉพาะและควรเป็นกลุ่มผู้อ่านที่ผู้เขียนรู้จักดีทั้งในด้านการศึกษา ประสบการณ์ วัย ฐานะ ความสนใจและความเชื่อ
           ๑.๒ ลักษณะเฉพาะของเรื่อง เรื่องที่มีลักษณะพิเศษจะดึงดูดใจให้ผู้อ่านสนใจ ลักษณะพิเศษดังกล่าว ได้แก่ ความแปลกใหม่ ความถูกต้องแม่นยำ แสดงความมีรสชาติ
          ๑.๓ เวลา เรื่องที่จะเขียนหากเป็นเรื่องที่อยู่ในกาลสมัยหรือเป็นปัจจุบัน จะมีผู้สนใจอ่านมาก ส่วนเรื่องที่พ้นสมัยจะมีผู้อ่านน้อย นอกจากนี้การให้เวลาในการเขียนของผู้เขียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ถ้าผู้เขียนมีเวลามาก ก็จะมีเวลาค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อการเขียนและการอ้างอิงได้มาก ถ้าผู้เขียนมีเวลาน้อย การเขียนด้วยเวลาเร่งรัด ก็อาจทำให้เนื้อหาขาดความสมบูรณ์ ด้านการอ้างอิง
          ๑.๔ โอกาส การเขียนเรื่องประเภทใดขึ้นอยู่กับโอกาสด้วย เช่น ในโอกาสเทศกาลและวันสำคัญของทางราชการและทางศาสนา ก็เลือกเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับโอกาสหรือเทศกาลนั้น ๆ เป็นต้น

          ๒. ประเภทของเรื่องที่จะเขียน  การแบ่งประเภทของเรื่องที่จะเขียนนั้นพิจารณาจากจุดมุ่งหมายในการเขียน ซึ่งแบ่งได้เป็น ๓ ประเภท คือ
          ๒.๑ เรื่องที่เขียนเพื่อความรู้ เป็นการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์รวมทั้งหลักการตลอดจนข้อเท็จจริงต่างๆ ใช้วิธีเขียนบอกเล่าหรือบรรยายรายละเอียด
          ๒.๒ เรื่องที่เขียนเพื่อความเข้าใจ เป็นการอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจความรู้ หลักการ หรือประสบการณ์ต่าง ๆ การเขียนเพื่อความเข้าใจมักควบคู่ไปกับการเขียนเพื่อให้เกิดความรู้
          ๒.๓ การเขียนเพื่อโน้มน้าวใจ  เป็นการเขียนเพื่อให้ผู้อ่านเชื่อถือและยอมรับ เพื่อให้ผู้อ่านได้รับอรรถรสทางใจให้สนุกสนาน เพลิดเพลินไปกับข้อเขียนนั้น ๆ

          ๓. การวางโครงเรื่องก่อนเขียน  การเขียนเรียงความเป็นการเสนอความคิดต่อผู้อ่าน ผู้เขียนจึงต้องรวบรวมเลือกสรรและจัดระเบียบความคิด แล้วนำมาเรียบเรียงเป็นโครงเรื่อง การรวบรวมความคิด อาจจะรวบรวม ข้อมูลจากประสบการณ์ของผู้เขียนเอง นำส่วนที่เป็นประสบการณ์ตรงและประสบการณ์ทางอ้อม ซึ่งเกิดจากการฟัง การอ่าน การพูดคุย ซักถาม เป็นต้น เมื่อได้ข้อมูลแล้วก็นำข้อมูล มาจัดระเบียบความคิด โดยจัดเรียงลำดับตามเวลา เหตุการณ์ ความสำคัญและเหตุผล แล้วจึงเขียนเป็นโครงเรื่อง เพื่อเป็นแนวทางให้งานเขียนอยู่ในกรอบ ไม่ออกนอกเรื่อง และสามารถนำมาเขียนขยายความเป็นเนื้อเรื่องที่สมบูรณ์ เขียนชื่อเรื่องไว้กลางหน้ากระดาษ เลือกหัวข้อที่น่าสนใจที่สุดเป็นคำนำ และเลือกหัวข้อที่น่าประทับใจที่สุดเป็นสรุป นอกนั้น เป็นเนื้อเรื่อง
          ๓.๑ ชนิดของโครงเรื่อง  การเขียนโครงเรื่องนิยมเขียน ๒ แบบ คือ โครงเรื่องแบบหัวข้อและโครงเรื่องแบบ ประโยค
               ๓.๑.๑ โครงเรื่องแบบหัวข้อ เขียนโดยใช้คำหรือวลีสั้น ๆ เพื่อเสนอประเด็นความคิด
               ๓.๑.๒ โครงเรื่องแบบประโยค เขียนเป็นประโยคที่สมบูรณ์ โครงเรื่องแบบนี้มีรายละเอียดที่ชัดเจนกว่าโครงเรื่องแบบหัวข้อ
          ๓.๒ ระบบในการเขียนโครงเรื่อง การแบ่งหัวข้อในการวางโครงเรื่องอาจแบ่งเป็น ๒ ระบบ คือ
               ๓.๒.๑ ระบบตัวเลขและตัวอักษร เป็นระบบที่นิยมใช้กันทั่วไป โดยกำหนดตัวเลขหรือประเด็นหลัก และตัวอักษรสำหรับประเด็นรอง ดังนี้
                    ๑) ................................................................................................
                          ก. ........................................................................................
                          ข. .........................................................................................
                    ๒)
                          ก. ........................................................................................
                          ข. .........................................................................................
               ๓.๒.๒ ระบบตัวเลข เป็นการกำหนดตัวเลขหลักเดียวให้กับประเด็นหลักและตัวเลขสองหลัก และสามหลัก ให้กับประเด็นรอง ๆ ลงไป ดังนี้
                    ๑) .................................................................................................
                          ๑.๑ ......................................................................................
                          ๑.๒ .....................................................................................
                   ๒) .................................................................................................
                          ๒.๑ .....................................................................................
                          ๒.๒ ....................................................................................
         ๓.๓ หลักในการวางโครงเรื่อง หลักในการวางโครงเรื่องนั้นควรแยกประเด็นหลักและประเด็นย่อยจากกันให้ชัดเจน โดยประเด็นหลักทุกข้อควรมีความสำคัญเท่ากัน ส่วนประเด็นย่อยจะเป็นหัวข้อที่สนับสนุน
ประเด็นหลัก ทั้งนี้ทุกประเด็นต้องต่อเนื่องและสอดคล้องกัน จึงจะเป็นโครงเรื่องที่ดี

ตัวอย่างโครงเรื่องแบบหัวข้อ
     เรื่องปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
     ๑)   สาเหตุของการติดยาเสพติด
          ก.  ตามเพื่อน
          ข.  การหย่าร้างของบิดามารดา
          ค.  พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก
          ง.  การบังคับขู่เข็ญ
     ๒)   สภาพปัญหาของการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
          ก.  จำนวนผู้ติดยา
          ข.  การก่ออาชญากรรม
          ค.  การค้าประเวณี
     ๓)   แนวทางการแก้ไขปัญหา
          ก.  การสร้างภูมิต้านทานในครอบครัว
          ข.  การสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง
          ค.  กระบวนการบำบัดรักษาแบบผสมผสาน

ตัวอย่างโครงเรื่องแบบประโยค
     เรื่องปัญหาการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
     ๑)   สาเหตุของการติดยาเสพติด มีหลายสาเหตุทั้งสาเหตุที่เกิดจากตัวเองและจาก
          สิ่งแวดล้อม
          ก.  เสพตามเพื่อน เพราะความอยากลอง คิดว่าลองครั้งเดียวคงไม่ติด
          ข.  บิดา มารดา หย่าร้างกัน ลูกอยู่กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำให้รู้สึกหว้าเหว่ เหงา
              และเศร้าลึก ๆ
          ค.  พ่อแม่ให้เวลากับการทำงานหาเงินและการเข้าสังคม ไม่มีเวลาให้ครอบครัว
          ง.  ในโรงเรียนมีกลุ่มนักเรียนที่ทั้งเสพและค้ายาเสพติดเอง ใช้กำลังข่มขู่                    บีบบังคับให้ซื้อยา         
     ๒) สภาพปัญหาของการติดยาเสพติดของวัยรุ่นไทย
          ก.  จำนวนวัยรุ่นไทยที่ติดยาเสพติดในปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ข.  ปัญหาที่ตามมาของการติดยาเสพติดคือการก่ออาชญากรรมทุกประเภท
          ค.  ในหมู่วัยรุ่นหญิงที่ติดยาเสพติด มักตกเป็นเหยื่อของการค้าประเวณีในที่สุด
     ๓) แนวทางการแก้ไขปัญหา
          ก.  การให้ความรัก ความอบอุ่น และความเอื้ออาทร รวมทั้งการมีเวลาให้กับคน
              ในครอบครัว เป็นภูมิต้านทานปัญหายาเสพติดได้อย่างดี
          ข.  การทำให้คนในชุมชนรักชุมชน ช่วยเหลือแก้ปัญหาในชุมชนจะเป็นเกราะ               ป้องกันปัญหายาเสพติดได้อย่างดี เพราะเขาร่วมกันสอดส่องดูและป้องกัน
              ชุมชนของตนเองจากยาเสพติด
          ค.  สังคมใดที่มีผู้คนสนใจใฝ่รู้ ใฝ่แสวงหาข้อมูลข่าวสาร ผู้คนจะมีความรู้เพียงพอ               ที่จะพาตัวให้พ้นจากภัยคุกคามทุกรูปแบบด้วยปัญญาความรู้ที่มี
          ง.  กระบวนการบำบัดผู้ติดยามิให้กลับมาติดใหม่ ทำได้ด้วยการให้การรักษาทางยา
              ควบคู่กับการบำบัดทางจิตใจ ด้วยการใช้การปฏิบัติทางธรรม ซึ่งจะเป็นภูมิ
              ต้านทานทางใจที่ถาวร

          ๔. การเขียนย่อหน้า การย่อหน้าเป็นสิ่งจำเป็นอีกอย่างหนึ่ง เพราะจะช่วยให้ผู้อ่าน อ่านเข้าใจง่ายและอ่านได้เร็ว มีช่องว่างให้ได้พักสายตา ผู้เขียนเรียงความได้ดีต้องรู้หลักในการเขียนย่อหน้า และนำย่อหน้า แต่ละย่อหน้ามาเชื่อมโยงให้สัมพันธ์กัน ในย่อหน้าหนึ่ง ๆ ต้องมีสาระเพียง ประการเดียว ถ้าจะขึ้นสาระสำคัญใหม่ต้องขึ้นย่อหน้าใหม่ ดังนั้น การย่อหน้าจะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับสาระสำคัญที่ต้องการเขียนถึงในเนื้อเรื่อง แต่อย่างน้อยเรียงความต้องมี ๓ ย่อหน้า คือ ย่อหน้าที่เป็นคำนำเนื้อเรื่องและสรุป
          ๔.๑ ส่วนประกอบย่อหน้า ย่อหน้า ๑ ย่อหน้าประกอบด้วย ประโยคใจความสำคัญและประโยคขยายใจความสำคัญหลาย ๆ ประโยค มาเรียบเรียงต่อเนื่องกัน
          ๔.๒ ลักษณะของย่อหน้าที่ดี ย่อหน้าที่ดีควรมีลักษณะ ๓ ประการ คือ เอกภาพ สัมพันธภาพและสารัตถภาพ
               ๑)  เอกภาพ คือ ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีประโยคใจความสำคัญ ในย่อหน้าเพียงหนึ่ง ส่วนขยายหรือสนับสนุนต้องกล่าวถึงใจความสำคัญนั้น ไม่กล่าวนอกเรื่อง
               ๒)  สัมพันธภาพ คือ การเรียบเรียงข้อความในย่อหน้าให้เกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กัน มีการลำดับความอย่างมีระเบียบ นอกจากนี้ยังควรมีความสัมพันธ์กับย่อหน้าที่มีมาก่อน หรือย่อหน้าที่ตามมาด้วย
               ๓)  สารัตภาพ คือ การเน้นความสำคัญของย่อหน้าแต่ละย่อหน้าและของเรื่องทั้งหมด โดยใช้ประโยคสั้น ๆ สรุปกินความทั้งหมด อาจทำได้โดยการนำประโยคใจความสำคัญมาไว้ตอนต้น หรือตอนท้ายย่อหน้า หรือใช้สรุปประโยคหรือวลีที่มีลักษณะซ้ำ ๆ กัน

          ๕. การเชื่อมโยงย่อหน้า การเชื่อมโยงย่อหน้าทำให้เกิดสัมพันธภาพระหว่างย่อหน้า เรียงความเรื่องหนึ่งย่อมประกอบด้วยย่อหน้าหลายย่อหน้าการเรียงลำดับย่อหน้าตามความเหมาะสมจะทำให้ข้อความ เกี่ยวเนื่องเป็นเรื่องเดียวกัน วิธีการเชื่อมโยงย่อหน้าแต่ละย่อหน้าก็เช่นเดียวกับการจัดระเบียบความคิดในการวางโครงเรื่อง ซึ่งมีด้วยกัน ๔ วิธี คือ
          ๕.๑  การลำดับย่อหน้าตามเวลา อาจลำดับตามเวลาในปฏิทินหรือตามเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นก่อนไปยังเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายหลัง
          ๕.๒  การลำดับย่อหน้าตามสถานที่ เรียงลำดับข้อมูลตามสถานที่หรือตามความ เป็นจริงที่เกิดขึ้น
          ๕.๓  การลำดับย่อหน้าตามความสำคัญ เรียงลำดับตามความสำคัญมากที่สุด สำคัญรองลงมาไปถึงสำคัญน้อยที่สุด
          ๕.๔  การลำดับย่อหน้าตามเหตุผล อาจเรียงลำดับจากเหตุไปหาผล หรือผลไปเหตุ

          ๖. สำนวนภาษา  ยึดหลักการใช้ภาษาดังนี้
          ๖.๑  ใช้ภาษาให้ถูกหลักภาษา เช่น การใช้ลักษณะนาม ปากกาใช้ว่า “ด้าม” รถใช้ว่า “คัน” พระภิกษุใช้ว่า “รูป” เป็นต้น นอกจากนี้ไม่ควรใช้สำนวนภาษาต่างประเทศ เช่น ขณะที่ข้าพเจ้าจับรถไฟไปเชียงใหม่ ควรใช้ว่า ขณะที่ข้าพเจ้าโดยสารรถไฟไปเชียงใหม่ บิดาของข้าพเจ้าถูกเชิญไปเป็นวิทยากร ควรใช้ บิดาของข้าพเจ้าได้รับเชิญไปเป็นวิทยากร
          ๖.๒  ไม่ควรใช้ภาษาพูด เช่น ดีจัง เมื่อไหร่ ทาน ฯลฯ ควรใช้ภาษาเขียน ได้แก่ ดีมาก  เมื่อไร  รับประทาน
          ๖.๓  ไม่ควรใช้ภาษาแสลง เช่น พ่น ฝอย แจวอ้าว สุดเหวี่ยง ฯลฯ
          ๖.๔  ควรหลีกเลี่ยงการใช้คำศัพท์ยากที่ไม่จำเป็น เช่น ปริเวทนาการ ฯลฯ ซึ่งมีคำที่ง่ายกว่าที่ควรใช้คือคำว่า วิตก หรือใช้คำที่ตนเองไม่ทราบความหมายที่แท้จริง เช่น บางคนใช้คำว่าใหญ่โตรโหฐาน คำว่า รโหฐานแปลว่า ที่ลับ ที่ถูกต้องใช้ ใหญ่โตมโหฬาร เป็นต้น
          ๖.๕  ใช้คำให้ถูกต้องตามกาลเทศะและบุคคล เช่น คำสุภาพ คำราชาศัพท์ เป็นต้น
          ๖.๖  ผูกประโยคให้กระชับ “ถ้าเจ้าดินช้าเช่นนี้เมื่อไรจะไปถึงที่หมายสักที” หรือประโยคว่า “อันธรรมดาคนเราเกิดมาในโลกนี้ บ้างก็เป็นคนดี บ้างก็เป็นคนชั่ว” ควรใช้ว่า “คนเราย่อมมีทั้งดีและชั่ว” เป็นต้น

          ๗. การใช้หมายเลขกำกับ หัวข้อในเรียงความจะไม่ใช้หมายเลขกำกับ ถ้าจะกล่าวแยกเป็นข้อ ๆ จะใช้ว่า ประการที่ ๑ ......ประการที่ ๒ ...... หรือประเภทที่ ๑ ..... ประเภทที่ ๒ .....แต่จะไม่ใช้เป็น ๑ ..... ๒ ..... เรียงลำดับแบบการเขียนทั่วไป

          ๘. การแบ่งวรรคตอนและเครื่องหมายวรรคตอน เครื่องหมายวรรคตอน เช่น มหัพภาค (.) อัฒภาค (;) จุลภาค (,) นั้น ไทยเลียนแบบฝรั่งมาจะใช้หรือไม่ใช้ก็ได้ ถ้าใช้ต้องใช้ให้ถูกต้อง ถ้าไม่ใช้ก็ใช้แบบไทยเดิม คือการเว้นวรรคตอน  โดยเว้นเป็นวรรคใหญ่ วรรคน้อย ตามลักษณะประโยคที่ใช้

          ๙. สำนวนโวหาร  สำนวนกับโวหารเป็นคำที่มีความหมายอย่างเดียวกันนำมาซ้อนกัน หมายถึง ชั้นเชิงในการเรียบเรียงถ้อยคำ ในการเขียนเรียงความสำนวนโวหารที่ใช้มี ๕ แบบ คือ
          ๙.๑  แบบบรรยาย หรือที่เรียกกันว่า บรรยายโวหารเป็นโวหารเชิงอธิบาย หรือเล่าเรื่องอย่างถี่ถ้วน โวหารแบบนี้เหมาะสำหรับเขียนเรื่องประเภทให้ความรู้ เช่น ประวัติ ตำนานบันทึกเหตุการณ์ ฯลฯ ตัวอย่างบรรยายโวหาร เช่น

          “ขณะที่เราขับรถขึ้นเหนือไปนครวัด เราผ่านบ้านเรือนซึ่งประดับด้วยธงสีน้ำเงินและแดงไว้นอกบ้าน เราไปหยุดที่หน้าวัด ซึ่งประตูทางเข้าตกแต่งด้วยดอกไม้และเครือเถาไม้ ในเขต วัดสงฆ์ห่มจีวรสีส้มสนทนาปราศรัยกับผู้คนที่ไปนมัสการอยู่ในปะรำไม้ปลูกขึ้นเป็นพิเศษ ความประสงค์ที่เราไปหยุดที่วัดก็เพื่อก่อพระทรายอันเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในวันขึ้นปีใหม่ตามศรัทธาของพุทธศาสนิกชน การก่อพระทรายเป็นพิธีบุญ อธิษฐานขอพรอย่างหนึ่ง งานเทศกาลนี้เป็นเวลาที่วัดทุก ๆ วัด จะต้องเก็บกวาดให้สะอาดที่สุด มีการสรงน้ำพระพุทธรูป เป็นประจำปีเพื่อขอให้ฝนตกโดยเร็ว”
          (จากสมโรจน์ สวัสดิกุล ณ อยุธยา “วันปีใหม่ที่นครวัด” งานเทศกาลในเอเซีย เล่ม ๑ โครงการความร่วมมือทางด้านการพิมพ์ ชุดที่ ๒ ศูนย์วัฒนธรรมแห่งเอเซียของยูเนสโก

          ๙.๒  แบบพรรณนา หรือที่เรียกกันว่า พรรณนาโวหาร คือ โวหารที่กล่าว เป็น เรื่องราวอย่างละเอียดให้ผู้อ่านนึกเห็นเป็นภาพ โดยใช้ถ้อยคำที่ทำให้ผู้อ่านเกิดภาพในใจ (มโนภาพ) ขึ้นโวหารแบบนี้สำหรับชมความงามของบ้านเมือง สถานที่ บุคคล เกียรติคุณ คุณความดีต่าง ๆ ตลอดจนพรรณนาอานุภาพของกษัตริย์และพรรณนาความรู้สึกต่าง ๆ เช่น รัก โกรธ แค้น ริษยา โศกเศร้า เป็นต้น ตัวอย่างพรรณนาโวหาร เช่น

          “เมื่อถึงตอนน้ำตื้นพวกฝีพายต่างช่วยกันถ่อ ทางน้ำค่อยกว้างออกไปเป็นหนองน้ำใหญ่ แต่น้ำสงบนิ่ง น่าประหลาด ป่าร่นแนวไปจากริมหนอง ปล่อยให้ต้นหญ้าสีเขียวจำพวกอ้อคอยรับแสงสะท้อนสีน้ำเงินแก่จากท้องฟ้า ปุยเมฆสีม่วงลอยไปมาเหนือศีรษะ ทอดเงาลงมาใต้ใบบัวและดอกบัวสีเงิน เรือนเล็กหลังหนึ่ง สร้างไว้บนเสาสูง แลดูดำเมื่อมมาแต่ไกล ตัวเรือนมีต้นชะโอนสองต้น ซึ่งดูเหมือนจะขึ้นอยู่ในราวป่าเบื้องหลัง เอนตัวลงเหนือหลังคา ทั้งต้นและใบคล้ายจะเป็นสัญญาณว่า มีความเศร้าโศกสุดประมาณ”
     (จากทองสุข เกตุโรจน์ “ทะเลใน” แปลและเรียบเรียงจากเรื่อง “The Lagoon” ของ Joseph Conrad การเขียนแบบสร้างสรรค์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ๒๕๑๙)

          ๙.๓ แบบอุปมา หรือที่เรียกว่าอุปมาโวหาร คือ โวหารที่ยกเอาข้อความ มาเปรียบเทียบเพื่อประกอบความให้เด่นชัดขึ้น ในกรณีที่หาถ้อยคำมาอธิบายให้เข้าใจ ได้ยาก เช่นเรื่องที่เป็นนามธรรมทั้งหลายการจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจเด่นชัด ควรนำสิ่งที่มีตัวตน หรือสิ่งที่คิดว่าผู้อ่านเคยพบมาเปรียบเทียบ หรืออาจนำกิริยาอาการ ของสิ่งต่าง ๆ มาเปรียบเทียบก็ได้ เช่น เย็นเหมือนน้ำแข็ง ขาวเหมือนดั่งสำลี  ไวเหมือนลิง  บางทีอาจนำ ความรู้สึกที่สัมผัสได้ทางกายมาเปรียบเทียบเป็นความรู้สึกทางใจ เช่น ร้อนใจดังไฟเผา รักเหมือนแก้วตา เป็นต้น โวหารแบบนี้มักใช้แทรกอยู่ในโวหารแบบอื่น ตัวอย่างอุปมาโวหาร เช่น ความสวยเหมือนดอกไม้ เมื่อถึงเวลาจะร่วงโรยไปตามอายุขัย แต่ความดีเหมือนแผ่นดิน ตราบใดที่โลกดำรงอยู่ ผืนดินจะไม่มีวันสูญหายได้เลย ความดีจึงเป็นของคู่โลกและถาวร กว่าความสวย ควรหรือไม่ถ้าเราจะหันมาเทิดทูนความดีมากกว่าความสวย เราจะได้ทำ แต่สิ่งที่ถูกเสียที
          ๙.๔ แบบสาธก หรือสาธกโวหาร สาธกหมายถึง ยกตัวอย่างมาอ้างให้เห็น สาธกโวหาร จึงหมายถึงโวหารที่ยกตัวอย่างมาประกอบอ้าง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจเรื่อง ให้ชัดเจนขึ้น ตัวอย่างที่ยกมา อาจจะเป็นตัวอย่างบุคคล เหตุการณ์หรือนิทาน โวหาร แบบนี้มักแทรกอยู่ในโวหารแบบอื่น เช่นเดียวกับอุปมาโวหาร ตัวอย่างสาธกโวหาร เช่น

          “... พึงสังเกตการบูชาในทางที่ผิดให้เกิดโทษ ดังต่อไปนี้   ในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักศิลามีเด็กวัยรุ่นเป็นลูกศิษย์อยู่หลายคน เรียนวิชาต่างกันตามแต่เขาถนัด มีเด็กวัยรุ่นคนหนึ่งชื่อ สัญชีวะอยู่ในหมู่นั้นเรียนเวทย์มนต์ เสกสัตว์ตายให้ฟื้นคืนชีพได้ ตามธรรมเนียมการเรียนเวทย์มนต์ต้องเรียนผูกและเรียนแก้ ไปด้วยกัน แต่เขาไม่ได้เรียนมนต์แก้” มาวันหนึ่ง สัญชีวะกับเพื่อนหลายคนพากันเข้าป่าหาฟืนตามเคย ได้พบเสือโคร่งตัวหนึ่งนอนตายอยู่ “นี่แน่ะเพื่อน เสือตาย” สัญชีวะเอ่ยขึ้น “ข้าจะเสกมนต์ให้เสือตัวนี้ฟื้นคืนชีพขึ้น คอยดูนะเพื่อน” “แน่เทียวหรือ” เพื่อนคนหนึ่งพูด “ลองปลุกมันให้คืนชีพลุกขึ้นดูซิ ถ้าเธอ สามารถ” แล้วเพื่อน ๆ อื่น ๆ ขึ้นต้นไม้คอยดู “แน่ซี่น่า” สัญชีวะยืนยัน แล้วเริ่มร่ายมนต์ เสกลงที่ร่างเสือ พอเจ้าเสือฟื้นลืมตาลุกขึ้นยืนรู้สึกหิว มองเห็นสัญชีวะพอเป็นอาหารแก้หิวได้ จึงสะบัดแยกเขี้ยว อวดสัญชีวะและคำรามวิ่งปราดเข้ากัดก้านคอสัญชีวะล้มตายลง เมื่ออาจารย์ได้ทราบข่าวก็สลดใจและอาลัยรักในลูกศิษย์มาก จึงเปล่งอุทานขึ้นว่า “นี่แหละ ผลของการยกย่องในทางที่ผิด ผู้ยกย่องคนเลวร้าย ยอมรับนับถือเขาในทางมิบังควร ต้องได้รับทุกข์ถึงตายเช่นนี้เอง”
     (จาก ฐะปะนีย์ นาครทรรพ การประพันธ์ ท. ๐๔๑ อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๙ หน้า ๙)

          ๙.๕ แบบเทศน์ หรือเทศนาโวหาร คือ โวหารที่อธิบายชี้แจงให้ผู้อ่านเชื่อถือ ตามโดยยกเหตุผล ข้อเท็จจริง อธิบายคุณโทษ แนะนำสั่งสอน ตัวอย่างเช่น

          “คนคงแก่เรียนย่อมมีปรีชาญาณ ฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดพูดและมีความรู้สึกสูง สำนึกในผิดชอบชั่วดี ไม่กล้าทำในสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพราะรู้สึกละอายขวยเขินแก่ใจและรู้สึก สะดุ้ง หวาดกลัว ต่อผลร้ายอันพึงจะได้รับ รู้สึกอิ่มใจในความถูกต้อง รู้สึกเสียใจในความผิดพลาด และรู้เท่าความถูกผิดนั้นว่า มิได้อยู่ที่ดวงดาวประจำตัว แต่อยู่ที่การกระทำของตัวเอง พึงทราบว่า ความฉลาดคิด ฉลาดทำ ฉลาดพูดและความรู้สึกสูง ทำให้คิดดีที่จริงและคิดจริง ที่ดี  ทำดีที่จริงทำจริงที่ดี และพูดดีที่จริง  พูดจริงที่ดี  นี่คือวิธีจรรยาของคนแก่เรียน
     (จาก ฐะปะนีย์ นาครทรรพ การประพันธ์ ท. ๐๔๑ อักษรเจริญทัศน์, ๒๕๑๙ หน้า ๘)  

          โวหารต่าง ๆ ดังกล่าวเมื่อใช้เขียนเรียงความเรื่องหนึ่ง ๆ ไม่ได้หมายความว่าจะใช้เพียงโวหารใดโวหารหนึ่งเพียงโวหารเดียว การเขียนจะใช้หลาย ๆ แบบประกอบกันไป แล้วแต่ความเหมาะสมตามลักษณะเนื้อเรื่องที่เขียน การเขียนเรียงความเป็นศิลปะ หลักการต่าง ๆ ที่วางไว้ไม่ได้เป็นหลักตายตัวอย่าง คณิตศาสตร์  วิทยาศาสตร์  ดังนั้นจึงเป็นเพียงแนวปฏิบัติและข้อเสนอแนะ ในการเขียน อาจพลิกแพลงได้ตามความเหมาะสมที่เห็นสมควร



ตัวอย่างเรียงความเรื่อง สามเส้า

          ครัวไทยแต่ก่อนครั้งหุงข้าวด้วยฟืนนั้น มีสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือ ก้อนเส้า เรายังหาครัวอย่างนี้ดูได้ในชนบท ก้อนเส้านั้นอาจเป็นดินหรือก้อนหิน มีสามก้อนตั้งชนกันมีช่องว่างสำหรับ ใส่ฟืน ก้อนเส้าสามก้อนนี้เองเป็นที่สำหรับตั้งหม้อข้าวหม้อแกงอันเป็นอาหารประจำชีวิต ของคนไทย ดู ๆ ไปก้อนเส้าสามก้อนนั้นก็เป็นสัญลักษณ์ของชาติไทย เพราะชาติไทยแต่ไหน แต่ไรมาก็ตั้งอยู่บนก้อนเส้าสามก้อนนั้น มีชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ พระพุทธศาสนา ก็ประกอบด้วยก้อนเส้าสามก้อนคือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์

          ก้อนเส้าสามก้อนหรือสามเส้านี้ เมื่อคิดไปอีกทีก็เป็นคติอันดีที่เราน่าจะยึดเป็นเครื่องเตือนใจ ภาษิตจีนมีว่า คนเราจะมีชีวิตมั่นคง จะต้องนั่งบนม้าสามขา ม้าสามขาตามภาษิตจีนนั้นหมายถึง สิ่งสำคัญสามอย่างที่พยุงชีวิตเรา สิ่งสำคัญนั้นจะเป็นอะไรก็ได้แต่ต้องมีสามขา ถ้ามีเพียงสอง ชีวิตก็ยังขาดความมั่นคง ภาษิตจีนนี้ฟังคล้าย ๆ “สามเส้า” คือว่าชีวิตของเราตั้งอยู่บนก้อนสามก้อน จึงมีความมั่นคง
    

          ก็ก้อนเส้าทั้งสามสำหรับชีวิตนี้คืออะไร ต่างคนอาจหาก้อนเส้าทั้งสามสำหรับชีวิตของตัวเองได้บางท่านอาจยึดพระไตรลักษณ์คือ ความทุกข์ ๑ ความไม่เที่ยง ๑ และความไม่ใช่ ตัวของเรา ๑ เป็นการยึดเพื่อทำใจมิให้ชอกช้ำขุ่นมัวในยามที่ตกทุกข์ได้ยาก หรือจะใช้ เป็นเครื่องเตือนมิให้เกิดความทะเยอะทะยานตนทำลายสันติสุขของชีวิตก็ได้ บางคนยึด ไตรสิกขาเป็นก้อนเส้าทั้งสามแห่งการยังชีวิตคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหลัก แต่บางคน ที่เล็งประโยชน์ในทางโลกมีหลักว่า เขาต้องประกอบอาชีพสามทาง เช่นว่า รับราชการหรือรับจ้างทางหนึ่ง หารายได้พิเศษในยามว่างทางหนึ่งและศึกษาหาความรู้ต่อกันอันเป็นเครื่องเสริมอาชีพทางหนึ่ง ก้อนเส้าสามก้อนของบางคนอาจเป็นเช่นนี้ และเมื่อมีก้อนเส้า สามก้อนดังนี้ ก็เปรียบเหมือนตั้งหม้อข้าวบนก้อนเส้าสามก้อนในครัว ซึ่งแน่นอนว่าเรา จะต้องได้กินข้าว ถ้าตั้งเพียงสองก้อนเราก็ไม่แน่ใจว่าหม้อข้าวจะหกคว่ำลงเมื่อใด
     
          สำหรับข้าพเจ้าเอง ก้อนเส้าทั้งสามของข้าพเจ้าก็คือ ตัวของตัวเอง ความรู้และโอกาส เมื่อกล่าวดังนี้ท่านอาจยังสงสัยว่าข้าพเจ้ายึดสามเส้านี้อย่างไรจะขอเริ่มด้วยตัวเอง คนเรา ต้องยึดตัวเองก่อน คือ ต้องทำตัวไว้ในความดี ต้องรักตัวรักตัวนี้คือการพยายามตั้งตัวไว้ใน ความดี ไม่ใช่การเห็นแก่ตัว หรือการนึกถึงตัวเป็นใหญ่ คนเราต้องรักตัวเองก่อน จึงจะรัก คนอื่นได้ ช่วยผู้อื่นได้
     
          ความรู้เป็นสิ่งสำคัญมาก นโปเลียนกล่าวไว้ว่า คนเราจะมีปัญญาความสามารถเพียงใดก็ตาม ถ้าไม่มีโอกาสเสียแล้ว เราก็ไม่อาจใช้ความรู้ความสามารถได้ และไม่อาจประสบความสำเร็จ หรือชื่อเสียงเกียรติยศได้ โอกาสจึงเป็นสิ่งสำคัญ แต่ว่าโอกาสหรือจะพูดอีกนัยหนึ่ง ช่องทางนั้นไม่ใช่จะมาหาเราเสมอไป เราต้องไปหามัน ต้องค้นหามัน และเมื่อพบแล้วต้องหยิบฉวยทันที อย่างที่พูดกันว่าอย่าละโอกาส
     
          เมื่อเราดำรงตนดีแล้ว พยายามหาความรู้ไว้เสมอและแสวงหาโอกาสช่องทางแล้ว ก็ไม่น่าสงสัยว่าเราจะดำรงชีวิตอยู่ด้วยความรุ่งเรืองไม่ได้

          สามเส้าดังที่กล่าวนั้นคือ สามเส้าที่ข้าพเจ้ายึดเป็นหลักประจำชีวิต สามเส้าเป็นคติของชีวิต ข้าพเจ้าเชื่อว่าผู้ยึดคตินี้ คือ คติที่ว่าชีวิตที่มั่นคงต้องอยู่บนสามเส้านั้น ต้องเป็น ผู้ที่พบความสำเร็จเป็นแน่
          (คัดจาก คณะอาจารย์ หมวดวิชาภาษาไทย วิทยาลัยครูพระนครศรีอยุธยา การใช้ภาษา ระดับประกาศนียบัตรวิชาการศึกษา, ๒๕๑๗ หน้า ๑๓๐ - ๑๓๑)

สรุป

          เรียงความเป็นการเขียนถึงความรู้ความคิดและประสบการณ์ของตนให้ผู้อื่นทราบโดยเขียนคำนำให้น่าสนใจ เขียนเนื้อเรื่องให้ชัดเจน และเขียนสรุปให้ผู้อ่านพอใจ นอกจากนี้ ก็ต้องใช้สำนวนโวหารให้ถูกแบบและถูกกาลเทศะด้วย

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก http://eastern.nfe.go.th/elearning/courses/60/thai21010.html

 

 

 

 



Content's Picture

Size : 6.14 KBs
Upload : 2011-10-07 13:43:33
Comment(s)

Current Page(s) 1/0
<<
1
>>

Vote this Content ?

0
Vote(s)
Create by :


Kru_JUNJAO
Detail Share
Status : ผู้ใช้ลงทะเบียน
ภาษาไทย


โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล
70 หมู่ 2 แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ 10170
โทรศัพท์ 0 2441 3593 E-Mail:satriwit3@gmail.com


Generated 0.873377 sec.